กิจกรรมโครงการ
"การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน" พื้นที่กรุงเทพมหานคร
ดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี 2564
เพื่อให้ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีคุณค่าได้นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Industries) โดยอาศัยแนวคิดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม โครงการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนผ่านความร่วมมือของศิลปิน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และสถาบันการศึกษา โดยจะดำเนินการ 4 พื้นที่ ได้แก่ (1) จังหวัดกาญจนบุรี (2) จังหวัดสุพรรณบุรี (3) จังหวัดนครปฐม (4) กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทดลองขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมให้มีผลต่อเศรษฐกิจชุมชนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์
จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้นิยมเดินทางมาท่องเที่ยว เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งได้ค้นพบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะดินเผา โครงกระดูก เครื่องประดับ ตลอดจนซากพืชซากสัตว์ที่ละทิ้งไว้ตามพื้นดิน ในถ้ำเพิงผา แสดงว่าได้มีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นเวลานานไม่แพ้แหล่งก่อนประวัติศาสตร์แหล่งอื่นๆ ของโลก ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรี-อยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองด่านที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของไทยอย่างมากเหตุการณ์ที่ปรากฏ เช่น การเดินทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ การรบที่ทุ่งลาดหญ้า ท่าดินแดง และสามสบ จวบจนการย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งที่ปากแพรกหรือลิ้นช้าง เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้เกณฑ์เชลยศึกทำทางรถไฟไปพม่าซึ่งเรียกกันว่าทางรถไฟสายมรณะ จึงเป็นที่ตั้งของสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้จังหวัดกาญจนบุรียังมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้อพยพมาอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ถ้ำหรือน้ำตก ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขาและที่ราบสูงสลับหุบเขาแคบ ๆ ตามแนวเหนือใต้ทำให้เป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำหล่อเลี้ยง ที่ราบตอนใต้และตะวันออกของจังหวัดเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญสมัยอยุธยา เป็นเมืองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีความได้เปรียบและมีศักยภาพของการพัฒนาการท่องเที่ยวสูง จึงจะเห็นได้ว่าจังหวัดกาญจนบุรีนับว่าเป็นจังหวัดเพชรน้ำหนึ่งที่รวบรวมทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน